เบียร์มาจากโจ๊กบูด

Beer เบียร์มาจากโจ๊กบูด

Beers   ...... ใครจะไปรู้ได้ว่า เจ้า โจ๊กหนึ่งชาม ที่ใกล้จะเน่าบูด จะทำให้เกิดเครื่องดื่มที่ ผู้คนทั่วโลกคลั่งไคล่ดื่มกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นของเบียร์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ชนิดแรกสุดบนโลก เกิดขึ้นมานานกว่า 6,000 ปีแล้ว ในบาบิโลน แห่งเปอร์เซีย ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล จะบูชาเทพเจ้าด้วยเบียร์ ว่ากันว่าเดิมถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวสุเมเรียน

 

จุดเริ่มต้นของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เกิดขึ้นมานานกว่า 6,000 ปีแล้ว และ "Beer" เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ชนิดแรกของโลก ในสมัย 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวเซมิติกในเปอร์เซียเรียนรู้การทำเบียร์ มีการบันทึกไว้ด้วยการแกะสลักวิธีการทำเบียร์บนกระดาน เพื่ออุทิศให้กับเทพีแห่งการทำฟาร์ม ในสมัย 2,800 ปีก่อนคริสตกาล ยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) มีบันทึกเกี่ยวกับการแบ่งปันเบียร์ และขนมปังให้กับทาสที่ใช้แรงงานในยุคสมัยนั้น แต่เบียร์ในยุคนั้นอาจจะยังไม่มีฟองมากเท่าในปัจจุบัน ในสมัย 2,225 ก่อนคริสตกาล เบียร์ได้รับความนิยมในหมู่ชาวบาบิโลน ในเวลานั้นชาวอียิปต์โบราณและชาวบาบิโลน ให้คุณค่าของเบียร์ เหมือนดั่ง "ยา" ที่เทพเจ้าประทานมาให้ ชาวกรีกเอง ก็ชอบดื่มเบียร์ด้วยและพวกเขาเรียนรู้วิธีทำเบียร์จากชาวอียิปต์ 

ส่วนการทำเบียร์ และบริโภคเบียร์ในสมัยนั้นพบว่า ในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ บาบิโลเนีย (Babylonia) 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ตามข้อบัญญัติที่บังคับใช้ของกษัตริย์ฮัมมูราบี (Hammurabi) ช่วง 1,728-1,686 ปีก่อนคริสตกาล แห่งแคว้นบาบิโลเนีย ได้มีการคิดค้น "เบียร์" ขึ้นมาโดยชาวบาบิโลน (Babylon) นักโบราณคดีได้ค้นพบแผ่นดินเหนียวที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ การใช้ข้าวบาร์เลย์มาทำเครื่องดื่มที่เรียกว่า "เบียร์" เป็นน้ำอมฤต และต่อมาอีก 2,000 ปี ที่อียิปต์ยุคโบราณ ได้ค้นพบพืชชนิดหนึ่งชื่อว่า "ฮ็อพ (Hops)" ที่ถูกผสมลงไปในเบียร์ทำให้มีรสขม กลิ่นหอมชวนดื่ม และยังสามารถเก็บเบียร์ไว้ได้นานขึ้นอีกด้วย แต่กรรมวิธีการผลิตเบียร์ในยุคนี้จะต่างจากปัจจุบัน ด้วยเหตุว่า รสชาติ สี กลิ่นของเบียร์จะขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิต และเครื่องปรุงแต่งเป็นสำคัญ ทำให้เกิดความหลากหลาย

   โฉมหน้าของกษัตริย์ฮัมมูราบี (Hammurabi) ช่วง 1,728-1,686 ปีก่อนคริสตกาล แห่งดินแดนเมโสโปเตเมีย

สมัยอียิปต์โบราณ มีการทำเบียร์ “Beer” จากข้าวบาร์เลย์โดยนำเมล็ดข้าว (Grain) มาเพาะให้รากงอก และอบแห้ง แล้วบดให้ละเอียดแบบหยาบๆ ใส่ในถังผสมกับดอกฮ็อพ (Hops) แล้วเติมน้ำลงไปผสมหมักกับยีสต์ ที่เป็นเชื้อรา ส่าเหล้า ที่ได้จากแป้งที่ทำขนมปัง ทิ้งไว้ข้ามคืน อากาศที่ร้อนในอียิปต์ทำให้เกิดกระบวนที่เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล และเกิดแอลกอฮอล์มีการตกตะกอนจากนั้นจะกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม โดยใช้กรรมวิธีการหมักคล้ายกับการทำไวน์ การดื่มเบียร์ของชาวอียิปต์ในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และในยุคที่อียิปต์เจริญรุ่งเรืองนั้น เบียร์ได้ถูกจัดเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ ที่มีการดื่มกันเป็นประจำคู่กับอาหารประจำวัน แม้แต่เด็กเล็กยังต้องดื่มเบียร์แทนน้ำเป็นประจำเลย  และเบียร์ยังเป็นค่าแรงงาน สำหรับการก่อสร้างพีระมิดด้วย 


หลักฐานการทำเบียร์ในอียิปต์โบราณ ใช้ข้าวบาร์เล่ย์หมักผสมน้ำ และยีตส์ 

Beer เบียร์ ความนุ่มนวลบนฟอง บ้างก็เชื่อกันว่าเบียร์มีมาเกือบ 6,000-7,000 ปีมาแล้ว โดยชาวบาบีโลนเป็นชาติแรกที่คิดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขึ้นมาที่ต่อมาถูก เรียกว่าเบียรไว้สำหรับสังเวยเทพเจ้าของเขาชาวบาบีโลนนิยมดื่มเบียร์กันทั้งบ้านทั้งเมืองโดยมีร้านขายเบียร์ผุดขึ้นมาทั่ว ราชอาณาจักรราวกับดอกเห็ดซึ่งแหล่งขายเบียร์ในยุคนั้นเรียกว่า "Bit Sikari" ผู้บันทึกไว้ว่าชาวอียิปต์รู้จักทำเบียร์ทีหลังกว่า ชาวบาบิโลนแต่อียิปต์ก็เป็นชาติที่เก่าแก่ที่คิดค้นเบียร์ได้เอง ประวัติศาสตร์ของเบียร์ยุคใหม่เริ่มที่ประเทศเยอรมันเจ้าตำรับแห่งเบียร์ โดยชาวเยอรมันโบราณได้เป็นผู้คิดค้นทำเบียร์ขึ้นในแคว้นบาวาเรีย โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบการทำเบียร์จากชาติใด ๆ เครื่องดื่มที่มีฟองชนิดนี้ชาวเยอรมันทำจากข้าวมอล์ท ยุคนั้นเรียกว่า "Peor" หรือ "Bior จนเพี้ยนมาเป็นคำว่า "Beer" ในเนเธอร์แลนด์ เรียกว่า "Bill" ในสหราชอาณาจักร เรียกว่า "Beer" ส่วนในฝรั่งเศส เรียกว่า "Biere" ในอิตาลี เรียกว่า "Birre" ส่วนใหญ่ของผู้ทำเบียร์ในยุคนั้นได้แก่พระ ที่ต้องการชักจูงให้ผู้คนนับถือศาสนาคริสต์ โดยเอาเบียร์เป็นเครื่องล่อ เบียร์คือสุราชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทสุราแช่ (คือสุราที่ยังไม่ได้กลั่น) เบียร์แต่ละยุคในสมัยโบราณมีวัตถุดิบและกรรมวิธีได้หลายอย่าง ได้แก่ พวกธัญญาพืชนานาพันธุ์ และผลไม้ต่าง ๆ ที่เลือกใช้ 

ลักษณะการดื่มกินเบียร์ในอียิปต์โบราณ จะใส่ในไหดินเผา ใช้หลอดจากต้นกกดูดกิน

ในช่วง 5,000 ปีก่อน เริ่มจากอียิปต์ ที่ใช้เบียร์เพื่อเป็นค่าตอบแทน หรือรางวัล สำหรับการทำงานก่อสร้างพีระมิด จนกระทั่งการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เผยแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นจีน , อินเดีย , เปอร์เซีย , กรีก-โรมัน ตามบันทึกของชาวโรมัน เบียร์ ถือเป็นเครื่องดื่มที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปด้วยกัน พวกนักบวช ในคริสตจักร ก็ใช้เบียร์เพื่องานพิธีกรรม เช่นกัน หรือแม้แต่พวกอินเดียนแดงในอเมริกาก่อนที่โคลัมบัสจะค้นพบทวีปอเมริกาก็มีการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดื่มกินกัน  เป็นเครื่องดื่มที่หมักมาจากข้าวโพดหมักทำเป็นส่าเหล้า

ในทวีปยุโรป เบียร์ถือเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันมากสุดที่เยอรมัน ถือได้ว่าชาวเยอรมันเป็นชนชาติแรกที่ผลิตเบียร์ขึ้นมาในยุโรป และเรียกชื่อว่า "บิเออร์" (Bior) รสเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งในยุคแรกผลิตเบียร์เพื่อดื่มกินกันภายในครอบครัวเท่านั้น โดยผู้หญิงจะมีหน้าที่ผลิตเบียร์ ด้วยวิธีง่ายๆ หลังจากนั้นต่อมาการผลิตเบียร์ได้เข้ามามีบทบาทในคริสตจักร เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม และแจกจ่ายให้กับผู้คนที่เข้ามาร่วมงานทางศาสนา และนักโบราณคดียังพบว่า เมื่อนำกากแห้งที่ติดอยู่ที่ภาชนะดินเผา ที่ขุดพบในซากเมืองโบราณ มาวิเคราะห์ดูพบว่า มันคือคราบเบียร์ที่มีดีกรีสูง ผลิตจากข้าวสาลีผสมน้ำผึ้ง เรียกกันว่า "อโล" (Alo) ปัจจุบันเรียกเพี้ยนมาเป็น "เอล" (Ale)

การกลั่นเบียร์ยุคแรก ในเยอรมัน

ในช่วงศตวรรษที่ 15 พบว่า วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ผลิตเบียร์ เริ่มมีปริมาณลดน้อยลง เนื่องจากผลกระทบจากสภาพธรรมชาติทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์ และดอกฮ็อพได้น้อย จึงเริ่มมีการใช้ธัญญาพืชชนิดอื่นมาแทน จนมาในปี ค.ศ.1516  แกรนด์ดุ๊กแห่งบาวาเรีย William IV มีการตั้งกฎบัญญัติแห่งความบริสุทธิ์ (Purity Law) ขึ้นในประเทศเยอรมัน เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ ต้องใช้เฉพาะวัตถุดิบจาก ข้าวสาลีมอล์ต ดอกฮ็อพ และน้ำ เท่านั้น จัดเป็นกฎหมายอาหารที่เก่าแก่ที่สุด สำหรับผลิตเบียร์ เพื่อรักษามาตรฐาน และคุณภาพ รวมขึ้นควบคุมราคาด้วย และหลักการนี้ยังใช้จนถึงทุกวันนี้ กฎดังกล่าวนี้ มิได้กำหนดบังคับใช้ในประเทศอื่นด้วย ดังนั้นจึงอาจจะมีการนำเอาข้าวเจ้า ข้าวโพด มัน หรือน้ำตาลมาใช้เป็นส่วนผสมปนกับข้าวมอล์ตด้วย ในการผลิตเบียร์

ในศตวรรษที่ 19 เมื่อมีตู้แช่แข็ง เบียร์ถูกเก็บในอุณหภูมิต่ำ จึงเกิดเป็นฟองเบียร์ 

ส่วนในบ้านเรา เบียร์นำเข้าครั้งแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1687 (พ.ศ.2230 สมัยอยุธยา) จนมาในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการขอตั้งโรงเบียร์ในเชิงอุตสาหกรรมขึ้น  เมื่อปี ค.ศ.1930 (ประมาณวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2473) พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ที่มีพระยาโกมารกุลมนตรี เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอยู่ในขณะนั้น พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยเห็นว่า "เบียร์เป็นสินค้าที่ชาวชาติได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในสยามประเทศมาช้านานแล้ว ทำให้เม็ดเงินไหลออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก ถ้าเราสามารถผลิตเบียร์ขึ้นได้เองก็จะป้องกันเงินที่สูญเสียไป และประหยัด รวมทั้งจะได้ประโยชน์ในเรื่องราคาขาย ที่ถูกลง และการผลิตเบียร์ยังสามารถใช้ปลายข้าวมาแทนข้าวมอล์ต ช่วยให้คนไทยมีงานทำด้วย" ความคิดดังกล่าวนี้เองพระยาภิรมย์ภักดี จึงขอตั้งโรงกลั่นเบียร์ขึ้น ที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในนาม "เบียร์สิงห์" (Singha Beer) 

พระยาภิรมย์ภักดีไม่ได้มีความรู้เรื่องการผลิตเบียร์มาก่อน จึงพยายามศึกษาค้นคว้าจนแน่ใจว่าสามารถผลิตเบียร์ในสภาพอากาศและน้ำอย่างในประเทศไทยได้ จึงดำเนินการขออนุญาต และตั้งโรงงานผลิตเบียร์ แต่อุปสรรคในการสร้างโรงเบียร์มีนานัปการ ด้วยความอุตสาหะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ นานา จนทำได้สำเร็จ และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2476 เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มาทอดพระเนตรการลงเสาเข็มคอนกรีตตึกโรงเบียร์แห่งแรก ด้วยเครื่องจักร ทรงซักถามถึงกิจการต่างๆ จนทั่วถึงแล้วจึงเสด็จฯ กลับ

เดิมทีพระยาภิรมย์ภักดี ทำกิจการเดินเรือเมล์ระหว่างตลาดพลูกับท่าเรือราชวงศ์ โดยใช้ชื่อว่า บริษัทบางหลวง จำกัด ต่อมาทางรัฐบาลเริ่มโครงการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า และตัดถนนเชื่อมตลาดพลู กับประตูน้ำภาษีเจริญ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่บริษัทบางหลวงทำกิจการเดินเรืออยู่ ทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้ต่อ จึงเริ่มมีการเปลี่ยนกิจการ โดยหันไปทำการค้าอย่างอื่นแทน ซึ่งก็คือธุรกิจการผลิตเบียร์ และการศึกษาแล้ว พบว่าเบียร์สามารถผลิตขึ้นเองในประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนได้ จึงเริ่มโครงการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

เมื่อยื่นเรื่องขออนุญาตต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว มีการพิจารณากันอย่างมาก เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้มาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณาเรียกเก็บภาษีเบียร์ ซึ่งในครั้งแรกจะกำหนดให้เสียภาษีลิตรละ 63 สตางค์ ในระหว่างที่รอการอนุญาต พระยาภิรมย์ภักดีได้เดินทางไปเมืองไซ่ง่อน ประเทศอินโดจีน (เวียดนาม) ในปีพ.ศ.2474 เพื่อศึกษาแบบแปลนเครื่องจักร ตลอดจนวิธีการผลิตเบียร์ หลังจากมีการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์ได้ และเรียกเก็บภาษีเบียร์ผ่านไปได้ 1 ปี จึงอนุญาตให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ได้ แต่ห้ามผูกขาด และคิดภาษีเบียร์ในปีแรก ลิตรละ 1 สตางค์ ในปีที่สองลิตรละ 3 สตางค์ ปีที่สามลิตรละ 5 สตางค์ ส่วนปีต่อๆ ให้พิจารณาตามที่เห็นสมควร ต่อมาช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2475 กระทรวงมุรธาธร โดยพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลละอองธุลีพระบาท ความว่า ได้รับรายงานจากกรมสรรพสามิตว่า นายลัก และนายเปกคัง ชาวจีน ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ (ยี่ห้อทีเคียว) ขึ้นจำหน่ายในประเทศ โดยรับรองว่า จะผลิตเบียร์ชนิดเดียวกับเบียร์จากต่างประเทศ ที่ทำจากดอกฮ็อพ และมอลต์ โดยขอผลิตประมาณ 10,000 เฮกโตลิตรต่อปี พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชกระแสว่า "เป็นเรื่องแย่งกับพระยาภิรมย์ภักดี และถ้าให้ทำก็คงทำสำเร็จก่อนพระยาภิรมย์ภักดีแน่ เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มคิดก่อน และเป็นพ่อค้าคนไทยกลับจะต้องฉิบหาย และทำไม่สำเร็จ" จึงทรงเห็นว่าไม่ควรอนุญาต

"พระยาภิรมย์ภักดีขอทำก่อน ได้รับอนุญาตแล้ว ในเวลานี้ยังไม่ควรอนุญาตให้ใครได้ทำอีก เพราะจะมีผล 2 ประการ คือ หนึ่งคนไทยกินเบียร์กันท้องแตกตายหมดเพราะจะแย่งกันขายลดราคา เกิดการแข่งขันกัน และสองคงมีใครฉิบหายคนหนึ่ง ถ้าหากไม่ฉิบหายกันหลายคน" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนว่า "ไม่ควรอนุญาตให้ผลิตในเวลานี้ ควรรอดูว่า พระยาภิรมย์ภักดีจะทำสำเร็จหรือไม่ และคอยสังเกตเรื่องการบริโภคก่อน นอกจากนั้นผู้ขออนุญาตรายนี้เป็นคนต่างด้าว จึงสามารถที่จะอ้างได้ว่า ต้องอุดหนุนคนไทยและอุตสาหกรรมที่มีทุนไทยก่อน" ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังตอบว่า" ยังไม่อนุญาตให้ เพราะได้อนุญาตให้ไปรายหนึ่งแล้ว ต้องรอดูก่อนว่าจะได้ผลอย่างไร เพราะเรื่องนี้สำคัญสำหรับความสุขของราษฎร์ และฝ่ายพระยาภิรมย์ภักดีจะใช้ข้าว และผลพลอยได้ของข้าว ด้วยฝ่ายรายที่ขออนุญาตใหม่ไม่ใช้ข้าวเลย"

โรงงานผลิตเบียร์ตราสิงห์ ที่บางกระบือ

เมื่อได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์แล้ว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2476 พระยาภิรมย์ภักดีจึงเดินทางไปยุโรปเพื่อซื้อเครื่องจักรในการผลิตเบียร์ แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทางรัฐบาลไทยไม่ยอมให้เสียภาษีตามพิกัดเดิมที่ตกลงกันไว้กับรัฐบาลเก่า จึงเกิดข้อข้อตกลงกันใหม่ โดยให้เสียภาษีในอัตราลิตรละ 10 สตางค์ หลังจากนั้นจึงได้เริ่มสร้างโรงงานผลิตเบียร์ขึ้น ที่บริเวณที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือ (ที่ตั้งโรงงานในปัจจุบัน) โดยขอเช่าที่จากเจ้าพระยารามราฆพ ต่อมาภายหลังได้ขอซื้อดินที่ดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโดรงงาน ขณะทำการก่อสร้างนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเสด็จฯ มาชมการก่อสร้างโรงงานถึงสองครั้ง พระยาภิรมย์ภักดีตั้งใจว่า จะตั้งชื่อบริษัทขณะที่จัดรูปแบบของบริษัทอยู่นั้นว่าบริษัทเบียร์สยาม แต่ถูกทักท้วงว่า "ในบ้านเมืองนี้ อะไรๆ ก็ใช้ชื่อสยามกันทั้งนั้น" พระยาภรมย์ภักดีจึงตัดสินใจเอาชื่อของตนเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัท นั่นก็คือ "บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด" เบียร์ของคนไทย ที่ผลิตออกมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2477 โดยได้ทดลองนำไปดื่มกันในงานสโมสรคณะราษฎร์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2477 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงเปิดป้ายบริษัทเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2477 เบียร์รุ่นแรกที่ผลิตออกมาวางจำหน่ายในราคาขวดละ 32 สตางค์ (ประมาณ บาท) โลโก้บนฉลากขวดเบียร์มีวิวัฒนาการตามนี้ โลโก้ตราหมี ตามด้วยโลโก้ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทอง ตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจ ตรารถไฟ และโกโก้ในปัจจุบันก็คือ โลโก้ตราสิงห์ ในสมัยนั้นไม่ว่าจะใช้โลโก้ตราอะไรก็ตาม ชาวบ้านมักเรียกติดปากกันว่า "เบียร์เจ้าคุณ"

ต่อมาในปี พ.ศ.2504 เกิดโรงเบียร์แห่งที่สองขึ้น ในชื่อ "บริษัทบางกอกเบียร์ จำกัด" ผลิตเบียร์ยี่ห้อตราหนุมาน ตราแผนที่ และตรากระทิง แต่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ดื่ม จนต้องเลิกกิจการไป ภายหลังต่อมาในปี พ.ศ.2509 จึงเปลี่ยนเจ้าของกิจการ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด" ผลิตเบียร์ยี่ห้ออมฤต และซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อเบียร์จากต่างประเทศมาด้วย คือ เบียร์คลอสเตอร์ มาผลิตเองเมื่อปี พ.ศ.2521 ปัจจุบันมียี่ห้อ เอ็นบี และรับผลิตเบียร์บัดไวเซอร์ ลิขสิทธิ์จากสหรัฐอเมริกา ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี แต่ ณ ปัจจุบันถูกซื้อกิจการไปแล้วโดย นายซาน มิเกล ชาวฟิลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ.2547

หลังจากนั้นภาครัฐก็ไม่ได้มีการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตเบียร์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่า เบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จึงตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ผลิตในประเทศ จนกระทั่งปี พ.ศ.2535 ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของผู้ผลิตเบียร์ จากที่กำหนดว่า ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติ ที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตเบียร์ภายในประเทศ  เมื่อปี พ.ศ.2534 เกิด "บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด" ผู้ผลิตเบียร์ช้าง ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร และต่อมาในปี พ.ศ.2536 เกิด "บริษัท คาร์ลสเบอร์ก บริวเวอรี่ จำกัด" ผลิตเบียร์คาร์ลสเบอร์ก ลิขสิทธิ์จากประเทศเดนมาร์ก โรงงานอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เช่นกัน และสุดท้ายในปี พ.ศ.2538 มี "บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด" เป็นผู้ผลิตเบียร์ไฮเนเก้น ลิขสิทธิ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี

ที่มาภาพจาก www.rhanthai.com

ในปี ค.ศ.1900 ช่างเทคนิคชาวรัสเซียได้ก่อตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นที่ฮาร์บิน ในจีน และชาวจีนก็เริ่มดื่มเบียร์เป็นครั้งแรก ต่อมาในปี ค.ศ.1903 อังกฤษและเยอรมันได้ร่วมทุนกันสร้างโรงเบียร์ Yingde ในจีน จึงเกิดโรงเบียร์ Tsingtao

เบียร์จากจีน ชิงเต่าเบียร์ (Tsingtao Beer) ของเมืองชิงเต่า อยู่ทางตอนใต้ของมณฑลซานตง ทิศทางตะวันออกของประเทศจีน เป็นเบียร์ยี่ห้อเก่าแก่ ผลิตมากว่า 100 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นของโรงผลิตเบียร์ยี่ห้อนี้ เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี ค.ศ.1903 เป็นการร่วมทุนกับพ่อค้าชาวอังกฤษ ใช้ชื่อเริ่มแรกว่า "บริษัท เบียร์เจอมานิสเชส แห่งเมืองซิงเต่า จำกัด (Germanisches)" และใช้เทคโนโลยีในการผลิตแบบเดียวกับเบียร์จากเยอรมัน เมื่อดำเนินกิจการไปได้เพียง 13 ปี เกิดสงครามโลกครั้งที่ โรงผลิตเบียร์แห่งนี้จึงถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของทหารญี่ปุ่นอีก 29 ปี และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงผลิตเบียร์ไดนิปปอน คอร์เปอเรชั่น (Dainipon)" จนกระทั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม โรงผลิตเบียร์แห่งนี้ ก็ตกอยู่ในมือของพรรคก๊กมินตั๋ง ช่วงนั้นด้วยสถานการณ์ทางการเมืองทำให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก จนกระทั่งปี ค.ศ.1949 เมื่อทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋งในเมืองชิงเต่า ได้เข้ายึดโรงผลิตเบียร์แห่งนี้ และจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มรูปแบบ ก็ดำเนินกิจการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง มีสถิติว่าในปี ค.ศ.1959 มีศักยภาพในการผลิตทะลุ 10,000 ตัน ต่อมาในปี ค.ศ.1963 ได้รับยกย่องให้เป็นเบียร์แห่งชาติยี่ห้อเดียวภายในประเทศจีน และเมื่อปี ค.ศ.1993 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท เบียร์ชิงเต่า จำกัด (Tsingtao)" และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงด้วย และเมื่อจีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) เบียร์ชิงเต่าก็ได้ใช้โอกาสนี้ เป็นพันธมิตรกับ อันเฮาเซอร์ บุช ผู้ผลิตเบียร์ "บัดไวเซอร์" จากสหรัฐอเมริกาด้วย ถือได้ว่าเบียร์ซิงเต่าเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศจีนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เบียร์จากลาว เบย์ลาว (Beer Lao) เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่เป็นที่นิยมดื่มกันมากทั่วโลก โดยเฉพาะคนเยอรมัน ที่มีความเชื่อว่าการดื่มเบียร์นั้น มีความบริสุทธิ์สะอาดว่าการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาเสียอีก ดังนั้นเราจะเห็นคนเยอรมันมักจะดื่มเบียร์กันแทนน้ำเลยก็ว่าได้ ปริมาณแอลกอฮอล์ในเบียร์ จะมีอยู่ต่ำมากประมาณ 3.5-6.0 ดีกรี และส่วนใหญ่อายุของเบียร์จะสั้นเก็บได้ไม่นาน โดยเฉพาะเบียร์สด ส่วนวัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ผลิตเบียร์ ก็คือข้าวบาร์เล่ย์ เรียกวิธีการผลิตนี้ว่า “Brewing” โดยจะนำข้าวบาร์เล่ย์มาเพาะ และอบแห้งทำเป็น มอลต์เกรน ที่เรียกว่า “Barley Malt Grain” แล้วนำมาผสมกับน้ำ จากนั้นจะปรุงแต่งรสชาดและกลิ่นด้วยดอกฮ็อพ (Hops) ที่ทำให้เกิดรสขม แล้วหมักรวมกับยีสต์ จะได้ของเหลวที่มีแอลกอฮอล์ แล้วมากรอง ก็จะได้เบียร์ ในประเทศเยอรมันเองมีการทำเบียร์ โดยจะใช้ข้าวสาลี “Wheat” มาทำเป็นมอลต์แทน ได้แก่ การทำเบียร์ Weizembier (ไว้-เซ่น-เบียร์) หรือ Wheat Beer

การรินเบียร์ Wheat Beer จากขวด ควรจะรินแบบให้มีฟองอยู่ 1 ใน 5 ส่วนของแก้ว ซึ่งหากใครรินไม่เป็น ก็อาจจะได้ฟองเต็มแก้ว หรือถ้ารินสไตล์คนไทย ก็จะ “ไม่เอาฟอง” รินแบบนี้ ไม่ถูกวิธีเท่าไร ที่ถูก ควรจะรินให้มีฟอง 1/5 ของแก้ว Plisner Beer ทรงกระบอกสูง ปากบานออกเล็กน้อย อุณหภูมิของเบียร์ที่ดื่มให้ได้รสชาติอร่อยจะต้องอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส ส่วนการเอาน้ำแข็งใส่ลงไปเพื่อให้เบียร์เย็นฉ่ำ ตามแบบฉบับนิสัยของคนไทยนั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง เป็นการดื่มแบบผิดๆ ทำให้รสชาติของเบียร์เปลี่ยนไป และการแช่เบียร์ให้เย็นเจี้ยบจนเป็นวุ้นก็เช่นกัน อาจจะทำให้เป็นโรคกระเพาะได้ หากเบียร์เย็นมากจนขึ้นสมองก็อาจจะเป็นอันตราย มีผลต่อหัวใจ

***ความคล้ายในความต่าง ของ Wheat Ale ถ้าจะบอกว่า PA เป็นเบียร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องดุดัน รสจัดจ้าน ดื่มมันส์ Wheat Beer ก็จะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะ รสมันนุ่มนวล เบาบาง และดื่มง่ายเบาสบาย จึงไม่แปลก ที่ Wheat Beer จะเป็นจุดเริ่มต้นของคนทั่วไป ที่หลงไหลมัน โดยเฉพาะคนที่เริ่มหันมาสนใจการดื่มเบียร์ทางเลือก พวก Craft Beer (เบียร์คราฟ์)***
Wheat Beer หรือ Wheat Ale เป็นเบียร์ที่ทำมาจากข้าวสาลี 30% ขึ้นไป หรือเกินกว่าครึ่ง ข้าวสาลีมีโปรตีนสูง กว่าข้าวบาร์เลย์เล็กน้อย จึงส่งผลให้เบียร์มี "เนื้อ" ที่แน่น ให้พายฟองละเอียด คงตัวหนา จับตัวนาน และสีขุ่นกว่าเบียร์ที่ผลิตจากข้าวบาร์เลย์ ทำให้เบียร์จากข้าวสาลี มีคาแรคเตอร์ "นุ่มนวล" กว่าเบียร์ทั่วไป ข้าวสาลีเป็นธัญพืชที่นำมาประกอบอาหารและทำเบียร์กันอย่างกว้างขวางในยุโรปมาตั้งแต่ยุคโบราณ และดื่มกันมานานเป็นร้อยๆ ปี ก่อนที่จะมาแพร่หลาย และนิยมกันในยุคโลกใหม่อย่างอเมริกา โอเชียเนีย (กลุ่มประเทศในแถมมหาสมุทรแปซิฟิก) และทั่วโลก
 
Wheat Beer แบ่งเป็น 3 กลุ่ม (ไม่นับเบียร์รสเปรี้ยว หรือพวกหมักโดยธรรมชาติอย่าง Lambic ที่ใช้ข้าวสาลีเหมือนกัน)
  1. German Wheat Beer ใช้ข้าวสาลีมากกว่า 50% ขึ้นไป ทำเป็นมอลต์ เบียร์ข้าวสาลีของเยอรมัน จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคที่ผลิต เช่น Weien มีความหมายว่า Wheat และ Weizenbier คือ Wheat Beer เรียกตามการผลิตของคนชาวเหนือ และชาวตะวันตก ในแคว้นบาวา เรียกว่า We3bier ซึ่งแปลว่า White Beer ส่วนบางท้องถิ่น จะนำเบียร์มาใส่ขวด ก็จะเรียกว่า Hefeweizen ซึ่งคำว่า Hefe มีความหมายว่ายีสต์ ซึ่งหลงเหลือในขวด รวมทั้งเป็นต้นกำเนิดของกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของ German Wheat Beer 18% มาจากกลิ่นของยีสต์ที่ใช้หมัก เป็นกลิ่นของสารประกอบกลุ่ม Ester มีกลิ่นคล้ายกล้วยหอม และกลิ่นฉุนๆ คล้ายเครื่องเทศ ของสารประกอบกลุ่ม Phenol นิยมหมักด้วยกรรมวิธีพิเศษแบบ Open Fermentation ทำให้ลดความเครียดของยีสต์ จะได้กลิ่นยีสต์ที่หอมละมุน มีรสขมเล็กน้อย มีกลิ่น Hops สายพันธุ์เยอรมัน กลิ่นอ่อนๆ มีฟองขาวนวลละเอียด สีเบียร์ขุ่นๆ ถ้ากรองจนใสจะเรียกว่า Kristal weizen และถ้าใส่มอลต์สีเข้มเพิ่มจะเรียกว่า Dunkelweizen มักนิยมเสิร์ฟในแก้วทรงสูง เพื่อโชว์สีสันและฟองเบียร์ นอกจากเบียร์เยอรมันที่ใช้ข้าวสาลีทำ ยังมี Gose, Berliner Weisse เป็นเบียร์เปรี้ยวอีกด้วย
  2. Belgian Wheat Beer ทำจากข้าวสาลี แบบไม่จำเป็นต้องทำเป็นมอลต์ได้มากถึง 20-30 % ซึ่งจะทำให้มีกลิ่นแป้ง คล้ายกลิ่นขนมปังของข้าวสาลีที่โดดเด่นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังปรุงรสเครื่องเทศต่างๆ ลงไป ในเบียร์ด้วย ทำให้ "Witbier" หรือ Wheat Beer ของเบลเยี่ยม มีลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ใส่เปลือกส้ม, เมล็ดผักชี, พริกไทย หรือแม้แต่ Seed of Paradise เครื่องเทศจากแอฟริกา เพิ่มลงไปด้วย การผสมผสานระหว่างยีสต์ที่ให้มีกลิ่นคล้ายเครื่องเทศ และกลิ่น Citus จากผิวส้ม ผิวมะนาว หรือผิวเลม่อน เป็นเสน่ห์ของเบียร์ชนิดนี้ สีเบียร์อ่อนๆ ขุ่นเล็กน้อย ฟองหนาละเอียด ฝาดนิดๆ มีความซ่าส์ ปนขมนิดๆ ติดเปรี้ยวเล็กน้อย มีดีกรี 4-5 % เป็นเบียร์โบราณที่เก่าแก่ แต่ถูกนำมาพัฒนาใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 19 โดย Hoegaarden  เบียร์เบลเยี่ยมใช้ข้าวสาลีป็นส่วนประกอบ คือ Lambic
    หรือ Gueuze
  3. American Wheat Beer  มีความคล้ายกับ Wheat Beer ในยุโรป แต่ต่างกันที่ใช้ยีสต์อเมริกันที่หมักแล้วให้กลิ่นยีสต์น้อยกว่า ต่อมานิยมใส่ Hops เพิ่ม ทำให้ได้เบียร์ที่มีรสขม กลิ่น ็นยห ชัดเจนขึ้น พอ Craft Beer นิยมกันในปัจจุบัน ก็พัฒนาต่อไปหลายทาง รวมถึงแตกแขนงไปเป็น White IPA หรือ Wheatwine ด้วย เอกลักษณ์ที่โดดเด่นรสชาติคลีน ไม่มีกลิ่นกล้วยหอม กลิ่นเครื่องเทศจากการหมักมาปะปน แต่จะมีกลิ่น Hops ชัดเจน จัดเป็น American Hop ในกลุ่ม Citrus, Piney หรือ Fruity สีเบียร์ออกทองอ่อนๆ มีทั้งเบียร์ที่ผ่านการกรองจนใส และขุ่น รสชาติค่อนข้างฝาด ดีกรีต่ำถึงปานกลาง อาจจะมีการใส่ธัญพืชอื่นๆ ผสม เช่น Buckwheat, Rye, Oat, Spelt มีความหลากหลาย 

เบียร์ ในยุโรป มีความเชื่อว่าการดื่มกินเบียร์ จะมีความสะอาดบริสุทธิ์กว่าดื่มน้ำธรรมดาเสียอีก

คนที่ทำหน้าที่ปรุงเบียร์มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "บรูมาสเตอร์ (Brewmaster)"

ในยุคที่ก่อนจะมีการนำ ดอกฮ็อพ (Hops) จากประเทศเนเธอร์แลนด์เข้าสู่ประเทศอังกฤษ ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 นั้น คำว่า "เอล" หมายถึง เฉพาะเครื่องดื่มที่หมักโดยไม่ใส่ดอกฮ็อพ  และต่อมาคำว่า "เบียร์" ใช้เพื่อหมายถึง เครื่องดื่มที่ได้จากการหมักแบบผสมดอกฮ็อพ แต่ในปัจจุบันนี้ความแตกต่างในลักษณะนี้ได้ถูกเลิกใช้ไปนานแล้ว ส่วนในอดีตชาวเวลส์ และชาวสก็อต มีเอลที่แตกต่างกัน 2 ประเภท คือ คอมมอนเอล (Common Ale) และสไปซ์เอล (Spite Ale) ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหลายๆ มลรัฐนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า คำว่า "เอล" นั้นให้หมายถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ ก็ตามที่เกิดจากการหมักธัญญาพืช ที่มีดีกรีแอลกอฮอล์สูงเกินกว่าระดับดีกรีแอลกอฮอล์ของเครื่องดื่มที่จะเรียกว่า "เบียร์" ได้ตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงลักษณะของการหมัก และประเภทของยีสต์ที่ใช้ในการหมัก ซึ่งทำให้เกิดความสับสนได้

ประเภทของเบียร์ 

  • Lager Beer : คำว่า Lager (ลาเกอร์) ในภาษาเยอรมันแปลว่า "การเก็บรักษา" คือเมื่อหมักเสร็จจะต้องเก็บไว้ในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิต่ำระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงนำมากรองและบรรจุขวด จะมีรสชาดอ่อน ปริมาณแอลกอฮอล์ไม่สูงมาก มีหลากหลายรสชาด และหลากหลายยี่ห้อ ผลิตกันในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทยด้วย เช่น เบียร์สิงห์ , เบียร์ช้าง , เบียร์ลีโอ เป็นต้น ยอดขายทั่วโลกประมาณ 90% เป็นเบียร์ประเภทนี้ มีดีกรีแอลกอฮอล์ประมาณ 3-5%
  • Ale Beer : จะมีรสชาดปานกลาง เกือบจะเข้มข้น รสชาดขมกว่าเลเกอร์เบียร์ มีปริมาณแอลกอฮอล์ ประมาณ 5.5-6.5 ดีกรี
  • Stout Beer : จะมีรสชาดเข้มข้นแรงที่สุด รสชาดเยี่ยมยอด มีฟองเข้มข้น กลิ่นหอมและรสชาดออกหวานฝาดขมเล็กน้อยถึงขมพิเศษ น้ำเบียร์มีสีน้ำตาลเข้มออกดำแดง ที่เรียกกันว่า “Black Beer” นิยมดื่มกันมากในอังกฤษ มีปริมาณแอลกอฮอล์ ประมาณ 4.5-7.5 ดีกรี ได้แก่ Guiness Stout Beer ของประเทศไอร์แลนด์ ส่วนของประเทศอื่นๆ มีอยู่หลายยี่ห้อ เช่น Out Malt Stout Beer, Murphy’s Beer, Dragon Stout Beer, Cooper’s Stout Beer, Paulaner Salvator Beer

Note : น่ารู้ เช่น

  • ลาเกอร์เบียร์ (Lager Beer) เป็นเบียร์ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศเยอรมัน คำว่า "Lager" มาจากภาษาเยอรมันคือ "Lagern" หมายถึง การกักเก็บ หรือเก็บรักษา เบียร์ลาเกอร์หมักมาจากมอล์ตข้าวบาร์เล่ย์และดอกฮ็อพ ใช้ยีสต์ประเภทหมักนอนก้น (Bottom-Fermentation Yeast) ใช้อุณหภูมิต่ำกว่าที่ใช้หมักเอลเบียร์ อยู่ที่ประมาณ 5-15 องศาเซลเซียส หลังจากเสร็จกระบวนการหมักแล้ว ลาเกอร์จะถูกเก็บไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิประมาณ 0-32 องศาเซลเซียส เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือนานเป็นเดือนๆ ก่อนจะนำออกมาจำหน่าย ทำให้เบียร์มีสีใส อ่อนถึงเข้ม แต่ส่วนใหญ่จะมีสีค่อนข้างอ่อนมากกว่า รสมีทั้งรสหวานจนถึงรสขม แต่นุ่มลิ้น และมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูง ส่วนใหญ่ในตลาด 90% จะเป็นเบียร์ประเภทลาเกอร์  มีดีกรีแอลกอฮอล์ประมาณ 3-5%

  • พิลเซ่นเบียร์ (Pilsen Beer) หรือ พิลส์เนอร์ (Pilsener) หรือบางครั้งเรียกแบบย่อว่า พิลส์ (Pils) เป็นเบียร์ลาเกอร์ชนิดหนึ่ง มีต้นกำเนิดจาก เมืองพิลเซิน (Plzeň) ในโบฮีเมียตะวันตก (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเซ็ก) เบียร์จะมีสีอ่อน รสจืด หวานอ่อนๆ หอมกลิ่มฮ็อพ และมอล์ต มีดีกรีแอลกอฮอล์ต่ำ ประมาณ 3.4-3.8%

  • บ๊อคเบียร์ (Bock Beer) เป็นเบียร์ลาเกอร์ที่มีความเข้มข้น จากประเทศเยอรมัน จะหมักแบบนอนก้น ตั้งชื่อเบียร์ตามชื่อเมืองหนึ่งใน Einbeck ของประเทศเยอรมันในช่วงยุคกลาง ที่มีชื่อเสียงในด้านการหมักเบียร์  ปกติจะหมักในฤดูหนาวเพื่อนำออกบริโภคในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เบียร์บ๊อคยังแบ่งออกเป็น เมย์บ๊อค (Maibock-ตามชื่อเดือนทีหมักคือเดือนพฤษภาคม), ไอซ์บ๊อค (Eisbock-บ๊อคน้ำแข็ง), ไวเซ่นบ๊อค (Weizenbock-บ๊อคข้าวสาลี) และ ด๊อปเปลบ๊อค (Doppelbock-บ๊อคสองเท่า). ซึ่งโดยปกติจะตั้งชื่อโดยมีส่วนท้ายชื่อว่า -ator เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ผลิตคนแรกคือ "Paulaner Salvator" และบ๊อคเบียร์ มีหลายผู้ผลิต มักจะมีใช้ตราเครื่องหมายที่มีรูป แพะ อยู่บนขวด เนื่องมาจาก 'บ๊อค' ในภาษาเยอรมัน หมายถึง "แพะตัวผู้" และในสำเนียงท้องถิ่น Einbeck นั้นจะออกเสียงเหมือน "Einbock" ซึ่งจะเหมือน Ein Bock หมายถึง "แพะหนึ่งตัว" เบียร์จะมีสีเข้มเกือบดำเกิดจากการใช้มอล์ตสีเข้ม เป็นพวก Heavy Beer มีดีกรีแอลกอฮอล์ค่อนข้างสูง

  • เอลเบียร์ (Ale Beer) หมายถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ใช้คำนี้มาแต่โบราณ นานกว่า 400 ปี หมักแบบไม่ใส่ดอกฮ็อพ ทำมาจากมอล์ตข้าวบาร์เล่ย์  คล้ายกับ Real Ale ของอังกฤษ (หมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) แต่ในปัจจุบันคำว่า "Ale" หมายถึงเบียร์ ที่หมักโดยใช้ยีสต์ประเภทที่หมักลอยผิวหน้า (Top-Fermenting Yeast) ที่อุณหภูมิปกติของห้องใต้ดินประมาณ 15-20 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าที่ใช้ในการหมักเบียร์ลาเกอร์ มักจะเสิร์ฟที่อุณหภูมิสูงกว่าด้วยเช่นกัน ปกติจะมีสีเข้ม และดีกรีแอลกอฮอล์สูงกว่าเบียร์ลาเกอร์

  • เบียร์ดำ หรือ ดาร์กเบียร์ (Dark Beer) หรือ ดุงเคนเบียร์ (Dunken Beer) เป็นเบียร์ที่มีสีน้ำตาลเข้มจนดำ คล้านสีน้ำโค้ก เนื่องจากใช้มอล์ตที่คั่วจนไหม้เกรียม จนมีกลิ่นหอม รสจะอ่อนกว่าพวกลาเกอร์เบียร์ ออกรสหวานขมนิดๆ และมีดีกรีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า

  • พอร์ทเทอร์เบียร์ (Porter Beer) เบียร์มีสีเข้ม หอมกลิ่นมอล์ต รสฝาดขมของดอกฮ็อพ เป็นเบียร์เอลชนิดหนึ่ง ที่หมักด้วยยีสต์หมักลอยผิวหน้า (Top-Fermenting Yeast) จะใช้น้ำไม่กระด้างในการหมักเบียร์ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่กรุงลอนดอนนิยมดื่มแบบผสมเอลเบียร์ และ twopenny (เป็นเบียร์ที่แรงที่สุด) ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ผู้ผลิตชื่อ "ฮาร์วูด" เรียกเครื่องดื่มที่ผสมนี้ว่า "Entire" ช่วงปี ค.ศ.1720 ต่อมาเครื่องดื่มนี้ได้กลายมาเป็นที่รู้จักในนาม "พอร์ทเทอร์"

  • สเตาท์เบียร์ (Stout Beer) มีเบียร์สีเข้มออกดำ เนื่องจากใช้เมล็ดข้าวมอล์ตที่ผ่านการคั่ว หรืออบเป็นเวลานานจนเกือบไหม้ เดิมทีจัดเป็นเบียร์พอร์ทเทอร์ ประเภทหนึ่ง ที่ผลิตและจำหน่ายในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1730 นิยมดื่มกันมากในอังกฤษ และไอร์แลนด์ นอกจากนี้ก็ยังนิยมบ้างในประเทศแคนาดา อเมริกา และออสเตรเลีย มีรสฝาดขมนิดๆ เข้มข้น และมีดีกรีแอลกอฮอล์สูง ส่วนคำว่า "สเตาท์ (Stout)" นั้น เริ่มใช้ครั้งแรกจาก "สเตาท์-พอร์ทเทอร์ (Stout-Porter)" ผลิตโดยบริษัทกินเนส ในไอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ.1820 สเตาท์ต่างจากพอร์ทเทอร์ คือ จะมีสีเข้มกว่า เนื่องจากการใช้ปริมาณของข้าวมอล์ตคั่วมากกว่า (สเตาท์และพอร์ทเทอร์บางครั้ง แยกแยะความแตกต่างได้ยาก ถ้าไม่ได้สังเกตจากป้ายฉลาก)

     

    ในประเทศไอร์แลนด์ ที่เมืองดูบลิน เครื่องดื่มที่เป็นที่รู้จักกันมาก คือ "Plain Porter" หรือ "Plain" ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงในกลอน "The Workman's Friend" ของ แฟลน โอ ไบรอัน "A pint of plain is your only man." ส่วนเครื่องดื่ม พอร์ทเทอร์แบบเข้มข้นเป็นพิเศษนี้ เรียกกันว่า สเตาท์-พอร์ทเทอร์ (Stout-Porter)" และกลายมาเป็นเบียร์สเตาท์ (Stout Beer) จนถึงทุกวันนี้

  • ไวท์เบียร์ (White Beer) หรือ เบียร์ขาว หรือ ไวเซ่นเบียร์ (Weizen Beer) หรือ วีทเบียร์ (Wheat Beer) หรือ วิทเบียร์ (Witbie) เป็นเบียร์ที่มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นของผลไม้รวม Citrus ทำจากข้าวสาลี ซึ่งหมักจากมอล์ต หรือผลไม้ บางครั้งเรียกกันว่า "เบียร์ผลไม้ มีกลิ่นหอม รสออกขมเล็กน้อย ลื่นคอ สีเหลืองทองใส มีฟองพุ่งออกมาตลอดเวลา ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะนิยมดื่มกันมากกว่า

  • ไอซ์เบียร์ (Ice Beer) เป็นเบียร์ที่ได้หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการหมักแล้ว เบียร์จะถูกทำให้เย็นจนน้ำเริ่มแข็งตัวเป็นเกล็ด ในขณะที่แอลกอฮอล์ จะมีอุณหภูมิของจุดเยือกแข็งที่ต่ำกว่า ยังคงอยู่ในสถานะของเหลว แล้วจึงกรองเอาเกล็ดน้ำแข็งออกเหลือส่วนที่เป็นของเหลว จึงได้เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นขึ้น แต่จะสูญเสียรสชาติไป เนื่องจากยีสต์และโปรตีนต่างๆ นั้นจะถูกกรองออกไปด้วยพร้อมกับน้ำแข็ง

    เป็นเรื่องเล่าลือกันว่า ไอซ์เบียร์นั้น ถูกคิดค้นขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ในระหว่างงานฉลอง ออคโทเบอร์เฟสต์

    ไอซ์เบียร์นั้นได้ถูกใช้เพื่อเป็นจุดขายในตลาดเบียร์ ในลักษณะเดียวกับไลท์เบียร์ ซึ่งประสบผลสำเร็จก่อนหน้านี้ แต่ในการผลิตบริษัทต่าง ๆ ได้ใช้ทางลัดในการผลิด โดยทำให้เบียร์แข็งตัว แล้วก็ปล่อยให้เกล็ดน้ำแข็งละลาย ก่อนที่จะดำเนินการตามกระบวนการปกติ จึงทำให้ชื่อของเบียร์นั้นเสียภาพพจน์ในสายตาของผู้บริโภค ซึ่งทำให้เบียร์ชนิดนี้ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จทางการตลาดเท่าที่ควร

  • เบียร์สด (Draft Beer) หรือ (Draught Beer) เป็นเบียร์ที่จะไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อระบบพาสเจอร์ไรส์ คือเบียร์จากถังหมักจะไม่บรรจุใส่ขวดหรือกระป๋อง และเบียร์ชนิดนี้จะมีวันหมดอายุที่สั้นกว่าเบียร์ชนิดอื่นๆ

  • เบียร์คราฟต์ (Craft Beer) เป็นเบียร์โฮมเมดดั้งเดิมตามสไตล์อเมริกัน ที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำเป็นพิเศษ มีข้อกำหนดโดย Brewers Association คือ เป็นโรงเบียร์ขนาดเล็ก ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 6 ล้านบาร์เรล ต่อปี หรือประมาณ 700 ล้านลิตร มีเจ้าของที่มีหุ้นส่วนใหญ่ถือหุ้นมากกว่า 75% (Independent) และต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งหมด ห้ามใส่สารสังเคราะห์กลิ่นหรือรส ถ้าจะใส่ ก็ใส่แค่เพื่อให้มีกลิ่นหรือรสชาติดีขึ้นเท่านั้น 

วิธีการจำแนกชนิดของเบียร์ ได้แก่ 

แยกตามลักษณะการหมัก คือ แยกตามชนิดของเชื้อยีสต์ที่ใช้ในการหมัก แบ่งได้เป็น 

  • การหมักโดยใช้ยีสต์ที่ลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำเบียร์เมื่อหมักเสร็จ เรียกยีสต์ชนิดนี้ว่า "ยีสต์หมักลอยผิวหน้า (Top Fermenting Yeast)" เช่น วีทเบียร์ (Wheat Beer), ไวท์เบียร์ (White Beer), อัลท์เบียร์ (Alt Beer), เคิลช์เบียร์ (Kölsch Beer), เอลเบียร์ (Ale Beer) , พอร์ทเทอร์เบียร์ (Porter Beer) และสเตาท์เบียร์ (Stout Beer)
  • การหมักโดยใช้ยีสต์ที่จมลงสู่ก้นถังหมักเมื่อหมักเสร็จ เรียกยีสต์ชนิดนี้ว่า "ยีสต์หมักนอนก้น (Bottom Fermenting Yeast)" เช่น ลาเกอร์เบียร์ (Lager Beer), พิลเซ่นเบียร์ (Pilsen Beer), ดาร์คเบียร์ (Dark Beer), บ๊อคเบียร์ (Bock Beer), ไอซ์เบียร์ (Ice Beer) และเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Alcohol Free Beer) เรียกว่า ไดเอ็ทเบียร์ (Diet Beer)
  • การหมักโดยใช้ยีสต์ตามธรรมชาติ เป็นการใช้เชื้อยีสต์ตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้เชื้อที่เพาะเลี้ยงขึ้นมา เช่น ลัมบิคเบียร์ (Lambic)

แยกตามสี และรสชาติ แบ่งได้เป็น 

  • เบียร์ดำ (Dark beer) น้ำสีดำ ส่วนใหญ่จะทำมาจาก มอล์ดำ หรือ คาราเมลมอล์ต  เช่น สเตาท์เบียร์ (Stout Beer) และมีรสชาติ ขมนิดๆ กลิ่นหอมน้ำตาลไหม้ บางชนิดมีรสชาติเฉพาะตัว
  • เบียร์สีทอง เช่น วีทเบียร์ มีรสเฉพาะตัว มีกลิ่นหอมของข้าวสาลี และมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง หรือพวกลาเกอร์เบียร์ (Lager Beer)

แยกตามความหวานของน้ำตาลเมื่อเริ่มต้นการหมัก ได้แก่ ลาเกอร์เบียร์ (Lager Beer) โดยทั่วไปจะมีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ 11% , พิลเซ่นเบียร์ (Pilsen Beer) มีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ 12% หริอเบียร์ประเภทที่มีดีกรีแอลกอฮอล์สูงๆ เช่น บ๊อคเบียร์ (Bock Beer) หรือสตรองเบียร์ (Strong Beer) จะมีน้ำตาลเริ่มต้นประมาณ 13-16% เป็นต้น

แยกตามประเทศที่ผลิต เรียกได้ว่าเบียร์ประจำท้องถิ่น เช่น เบียร์ซานมิเกล (San Miguel Beer) ของประเทศฟิลิปปินส์, เบียร์ซิงเตา (Tsingtao Beer) ของประเทศจีน , เบียร์ลาว (Lao Beer) ของประเทศลาว , เบียร์เมียนม่า (Marma Beer) ของประเทศพม่า, เบียร์สิงห์ (Singha Beer) ของประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งเบียร์ของแต่ละชาติก็จะมีรสชาติแตกต่างกันไป

กระบวนการผลิตเบียร์

จะมีอยู่ 4 ขั้นตอน คือ

  1. การนำข้าวบาร์เล่ย์ (Barley) โดยเริ่มต้นจากการเพาะเมล็ดข้าวบาร์เล่ย์จนเริ่มงอก เกิดเอนไซม์ เปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลเรียกว่าเป็นข้าวมอล์ต (Malt) แล้วอบให้แห้ง แล้วทำเป็นมอลต์บดให้ละเอียด 

  2. การนำเบียร์ไปต้ม (Brewing) ด้วยความร้อนต่ำกับน้ำที่ปรับสภาพจนได้ที่ เกิดกระบวนการแป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาล แล้วไปผ่านเข้าเครื่องกรอง เพื่อแยกกากข้าวมอลต์ออก เหลือส่วนที่เป็นของเหลวที่มีน้ำตาลข้าวมอลต์ละลายอยู่ เรียกว่า "เวิร์ท (Wort)" และจะนำของเหลวที่ได้มาผสมกับดอกฮ็อพ (Hops)  เพื่อสกัดกลิ่นหอม “Essential Oil” และสารรสขมหรือยาง “Resins” คือกรดแอลฟ่า ที่อยู่ในดอกฮ็อพออกมา จากนั้นจะกรองเอาแต่น้ำของเหลวและปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น เพื่อเตรียมเข้าสู่การหมัก

  3. การหมักบ่ม (Fermenting) การเติมยีสต์เข้าไปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อหมักได้ที่แล้วจะนำไปบ่มในถังเก็บที่ควบคุมความดันในห้องที่เย็นจัด เพื่อให้ยีสต์และโปรตีนจากข้าวมอล์ตที่ไม่ละลายตกตะกอน

  4. การเก็บบ่ม (Storing) หลังที่ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ตามที่ต้องการแล้ว จะนำของเหลวที่ได้มาถ่ายใส่ถังสเตนเลส เพื่อทำให้รสชาดกลมกล่อม มีกลิ่นหอมที่ดี และในช่วงนี้เองจะเกิดกระบวนการตกตะกอนเพื่อให้ได้น้ำเบียร์ที่ใส เบียร์ที่ได้ในขั้นนี้ เรียกว่า "เบียร์สด (Draft Beer)" ส่วนหนึ่งจะบรรจุลงถังเพื่อส่งไปบริการผู้นิยมเบียร์สด ส่วนที่ต้องการทำเป็นเบียร์บรรจุขวด (Bottled Beer) หรือเบียร์บรรจุกระป๋องแคน (Canned Beer) จะเพิ่มขั้นตอนอีกขั้นตอนหนึ่ง คือการทำให้กลิ่นและรสชาดคงเดิม โดยการผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ (Pasteurize) ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 140-150 องศาฟาเรนไฮน์ ประมาณ 20-60 นาที เป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยีสต์ที่เหลืออยู่ การบรรจุลงขวดจะนิยมใช้ขวดสีชา หรือขวดที่มีสีอื่นนอกจากสีขาว เพื่อป้องกันแสงแดดที่เป็นตัวการที่ทำให้เบียร์เสื่อมสภาพเร็ว

 

แต่ในปัจจุบันเบียร์ส่วนใหญ่ผลิตจากข้าวมอล์ตของข้าวบาร์เล่ย์เท่านั้นวิธีทำอย่างย่อคือนำข้าวมอล์ตไปบดแล้วต้มให้สุก หมักด้วยเชื้อยีสต์กับดอกฮ็อพ พาสเจอร์ไรซ์ และนำเก็บไว้ในห้องเย็น 2-3 เดือน ก็จะได้น้ำเบียร์ที่ดื่มแล้วกระชุ่มกระชวยส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเบียร์มีดังนี้

มอล์ต (Malts) มอล์ทคือการนำข้าวบาร์เล่ย์มาเพาะให้งอกรากการทำเบียร์ให้ได้คุณภาพดี จะต้องเลือกข้าวบาร์เล่ย์ที่จะเพาะเป็นมอล์ทที่มีคุณภาพดี มีผู้ผลิตเบียร์จำนวนไม่น้อยที่ทุ่นค่าใช้จ่ายของต้นทุนโดยเอาธัญญาพืชอื่น ๆ เช่น ข้าวเหนียว ข้าวโพด ข้าวโอ๊ตและข้าวไรย์มาเป็นส่วนผสมในการผลิตเบียร์ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เบียร์มันและหอมไม่เท่าที่ควรข้าวบาร์เล่ย์ 2 พันธุ์ที่นิยมนำมาทำเบียร์ที่สุด คือ พันธุ์ ทู-ราว บาร์เล่ย์ และพันธุ์ ซิก-ราว บาร์เล่ย์ ผู้ผลิตเบียร์ในยุโรปส่วนใหญ่จะใช้สองพันธุ์นี้ เช่น เยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ และ เดนมาร์ก

ฮ็อพ (Hops) ฮ็อพเป็นดอกไม้ที่มีรสขมและหอม มีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคหลายชนิด การนำดอกฮ็อพมาผสมในเบียร์อังกฤษเป็นชาติแรก คุณสมบัติพิเศษของฮ็อพ ก็คือ ทำให้เกิดกลิ่นหอมอันเย้ายวนในน้ำเบียร์ และขมลึก ๆ ดอกฮ็อพมีหลายพันธุ์ด้วยกัน

น้ำ (Water) น้ำตามธรรมชาติที่ส่วนผสมของแคลเซี่ยมเหมาะสำหรับการทำเบียร์รสเข้มข้น เช่น ประเทศอังกฤษเบียร์ชนิดปอลเอล ผลิตที่เบอร์ตัน ออนเทรสต์ มีชื่อเสียงมาก เพราะน้ำที่นั่นมีปริมาณแคลเซี่ยมซัลเฟต (ยิปซัม) มากกว่าที่อื่นที่อเมริกา น้ำก็อิทธิพลต่อเบียร์ที่นั่นมาก เช่นน้ำจากทะเลสาบเฮมล็อคบริเวณดังกล่าวก็เป็นแหล่งผลิตเบียร์มีชื่อรายใหญ่หลายราย

ยีสต์ (Yeast) การทำเบียร์ยุคโบราณใช้ยีสต์ตามธรรมชาติที่มีในอากาศทั่วๆ ไปในปี ค.ศ.1876 จึงได้มีการคิดค้นตัวยีสต์ จากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขึ้นยีสต์ตามธรรมชาตินั้นเมื่อทำปฏิกริยาทางวิทยาศาสตร์น้ำส่า บางครั้งจะทำได้ตัวยีสต์ที่ให้กลิ่นรสที่เราไม่ต้องการ การเตรียมเชื้อยีสต์จากห้องปฏิบัติการเราสามารถควบคุมและเฟ้นตัวยีสต์ที่เราต้องการมาทำการหมักกับเบียร ์ได้ยีสต์ที่นำมาใช้กับเบียร์ มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือประเภทที่กินน้ำตาลจนอิ่มแล้วซบเซาง่วงนอนตกไปอยู่ที่ก้นถังยีสต์ประเภทนี้ใช้ทำ ลาเคอร์เบียร์ ส่วนอีกประเภทหนึ่งตรงกันข้ามกับประเภทแรกคือ เมื่อกินน้ำตาลจนอิ่มกลับกระฉับกระเฉงลอยตัวขึ้นไปผาดโผนอยู่บนน้ำส่าของเบียร์

.........................................................................................................

คนเราชอบพูดถึง "เบียร์" อธิบายความโดดเด่น และเห็นรอยยิ้มทุกครั้งที่ได้เห็นความแปลกใหม่

และลงท้ายด้วยการดื่มเบียร์เหมือนกับ คนที่รักหมา แม้บางครั้งอาจจะไม่ชอบมันบ้างก็ตาม

แต่ก็ยังยินดีที่จะเลี้ยงมันไว้ ใครๆ ก็รู้ว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่สูงส่ง ดูซับซ้อนมากกว่าไวน์

และทุกชาติก็ล้วนมีเบียร์เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ชนิดไหนแบบไหนก็ตาม 

...........................................................................................................

คุณค่าของเบียร์ 

เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งมาจากวัตถุดิบทางธรรมชาติโดยแท้ จึงทำให้เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ทางด้านโภชนาการนอกจากจะช่วยดับกระหายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหารอีกด้วย โดยปริมาณแอลกอฮอล์ และคาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ในเบียร์นั้น จะให้พลังงานต่อร่างกายประมาณ 440 กิโลแคลอรี่ต่อเบียร์ 1 ลิตร และแอลกอฮอล์ยังช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในเบียร์ ก็ช่วยกระตุ้นน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร ทำให้ช่วยย่อยอาหารได้ดีอีกด้วย ส่วนประกอบจากดอกฮ็อพ และเกลือโพแทสเซียมที่อยู่ในเบียร์ จะช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะ และชะล้างไต (ทำความสะอาดไต) และเบียร์ยังช่วยทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดทางประสาท เกิดการตื่นตัว นอกจากนี้ในเบียร์ยังมีวิตามินที่มีคุณค่าหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 มีโปรตีน รวมทั้งเกลือแร่ต่างๆ เช่น แคลเซียม ช่วยป้องกันโรคหัวใจ แมกนีเซียม ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล และเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ฟอสเฟต ช่วยเรื่องกระดูก ฟัน และเป็นตัวช่วยสะสมพลังงาน มีพวกโซเดียมซัลเฟต โซเดียมคลอไรด์ และโซเดียมไนเทรต เป็นต้น

เบียร์มีสารต่างๆ มากกว่า 1,000 ชนิด มีวิตามินและเกลือแร่ช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อแข็งแรง

สำหรับ คอเบียร์คงหูผึ่งเมื่อมีคนบอกว่าเบียร์มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถึงอย่างไรก็ควรดื่มพอประมาณ แล้วเหตุใดฝรั่งจึงบอกว่าเบียร์ดีมีประโยชน์ เหตุผลก็คือเบียร์มีสารต่างๆ มากกว่า 1,000 ชนิด รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ เช่น สังกะสี แมกนีเซียม เหล็ก และแร่ธาตุจำเป็น ซึ่งช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อ แข็งแรง เหตุผลดีๆ ยังมีอีกมากมาย เช่น 

ป้องกันโรคหัวใจ จากการศึกษาของนักวิชาการพบว่า ผู้ที่ดื่มเบียร์มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มเบียร์ 40 - 60% แต่ควรดื่มไม่เกินครึ่งลิตรต่อวัน

ช่วยลดความเสี่ยงโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สารที่มีประโยชน์ในเบียร์สามารถช่วยป้องกันเส้นเลือดอุดตันจึงช่วยป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

ช่วยลดความดันโลหิต แพทย์ชาวฮอลแลนด์และจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดค้นพบว่า การดื่มเบียร์ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้

ป้องกันเบาหวาน ผู้ที่ดื่มเบียร์มีจำนวนน้อยที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เหตุผลก็คือ เบียร์ทำให้ร่างกายสามารถปรับฮอร์โมนอินซูลิให้ความทรงจำดี นักดื่มเบียร์จึงไม่ค่อยเป็นโรคอัลไซเมอร์

ช่วยให้กระดูกแข็งแรง เบียร์ให้ผลดีต่อกระดูก สามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ แต่ได้ผลเฉพาะกับหนุ่มสาวเท่านั้น

ช่วยให้อายุยืน จากการศึกษามากกว่า 50 สำนัก พบว่า ผู้ที่ดื่มเบียร์วันละ 1 - 2 แก้ว มักจะมีอายุที่ยืนยาว เนื่องจากเบียร์มีสารปกป้องหัวใจ

ป้องกันท้องร่วง โมเลกุลในเบียร์มีส่วนประกอบเหมือนกันกับกรดนมและน้ำส้มสายชู สารที่ว่านี้ขัดขวางเชื้อโรคในลำไส้ที่เป็นสาเหตุของท้องร่วงไม่ให้แพร่ เชื้อจนท้องเสีย

ต้านความเครียด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Montreal ค้นพบว่า คนทำงานที่ได้ดื่มเบียร์บ้างเป็นครั้งคราวมีความเครียดน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มเบียร์

ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีและในไต นักวิชาการจากเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ค้นพบว่า การดื่มเบียร์วันละหนึ่งขวดก็จะได้รับแมกนีเซียม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงโรคนิ่วในไตได้ถึง 40%

ป้องกันโรคนอนไม่หลับ สารจากดอก Hops ใน เบียร์เปรียบเสมือนยานอนหลับจากธรรมชาติ ช่วยให้ประสาทผ่อนคลาย ดังนั้น การดื่มเบียร์หนึ่งแก้วในตอนเย็นจึงเหมือนกับการกินยานอนหลับ

ช่วยต้านมะเร็ง เบียร์มีสารโพลีฟีนอยด์ที่จะช่วยป้องกันมะเร็ง โดยการดักจับอนุมูลอิสระตัวร้ายออกจากร่างกาย สารโพลีฟีนอยด์หลักก็คือ Xanthohumol ซึ่งมีข้อดี คือ ช่วยยับยั้งโปรตีนที่ช่วยในการพัฒนาการของมะเร็ง

ช่วยให้ผิวสวย ในเบียร์มีวิตามินสูง เช่น Pantothenic Acid วิตามินบี และไนอาซิน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการผลิตเซลล์ผิวใหม่ ช่วยสร้างคอลลาเจนและเม็ดสี ผิวจึงเรียบเนียนและอ่อนนุ่ม

 

วิธีดื่มเบียร์ (ปล.หัวข้อนี้...ที่มาจากเดลินิวส์ออนไลน์.) ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ชนิดใดก็ตาม แต่สิ่งคล้ายกันก็คือ กลิ่น (Aroma) และรสชาติ (Flavour) การชิมเบียร์ไม่มีกรรมวิธีพิเศษยุ่งยาก วิธีดูง่ายๆ ตามนี้

  • มองดูด้วยตา (Look)  เบียร์มีสีต่างกัน เพราะใช้วัตถุดิบที่ผลิตต่างกัน ให้ดูที่ความใสของเบียร์ ดูพรายฟองที่จะต้องละเอียดนุ่มดุจเนื้อครีม 
  • หมุนแก้ว (Swirl) หมุนวนแก้วเบียร์เพื่อให้ได้กลิ่นเบียร์ หมุนวนเพียงเบา ๆ จะช่วยให้ได้กลิ่นหอมของดอกฮ็อพ 
  • สูดดมกลิ่น (Sniff) ต้องมีกลิ่นหอมเย้ายวนชวนดื่ม
  • จิบชิมลิ้มรส (Sip) ชิมเบียร์ จะได้สัมผัสทั้งกลิ่น และรส ที่ไหลผ่านลิ้นและลำคอ ขณะยกแก้วเบียร์ขึ้นจิบ ปลายลิ้นจะได้ลิ้มรสชาติหอมหวานจากมอล์ต เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยความซาบซ่าจากรสของวัตถุดิบที่นำมาผลิตเบียร์ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ หรือธัญญาพืช รวมถึงกลิ่นหอม และรสขมของดอกฮ็อพ
Visitors: 4,616,706